วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)
โดย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 
โรคสมาธิสั้นคืออะไร
 
     เป็นกลุ่มอาการในเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม สมาธิสั้น ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ยับยั้งตัวเองได้ลำบาก แสดงออกมาได้เป็น 3 กลุ่มคือ
  1. กลุ่มอาการของสมาธิ เช่น ทำกิจกรรมอะไรไม่ได้นาน ทำงานไม่เสร็จ ทำงานผิดบ่อย ๆ ไม่ใส่ใจรายละเอียด ขี้ลืมทำของหายเป็นประจำ เป็นต้น
  2. กลุ่มอาการซนไม่อยู่นิ่ง เช่น ยุกยิก อยู่ไม่เป็นสุข ลุกเดินในห้องเรียน วิ่ง ปีนป่าย เล่นแรง รอคอยไม่ได้ พูดมาก พูดแทรก เป็นต้น
  3. กลุ่มที่พบอาการร่วมกันทั้ง 2 แบบ อาการจะเกิดในหลายสถานที่ไม่ใช่เฉพาะที่โรงเรียนหรือที่บ้าน และเริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อน อายุ 7 ปี เห็นอาการได้ชัดเจน ในช่วงชั้นประถมปีที่ 2 - 3 เนื่องจากเป็นช่วงวิชาเรียนมีความยาก และต้องการความใส่ใจในการเรียนมากขึ้น
สาเหตุ   
     เป็นความผิดปกติของการทำงานทางสมอง เช่น โรคลมชักภาวะน้ำแรกคลอดน้อยในทารกแรกเกิด เป็นต้น เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ทำให้ยับยั้งหรือควบคุมตนเองไม่ดี และไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงลูกที่ไม่ดี
อุบัติการณ์
     ประมาณร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน ถ้าห้องเรียนมีนักเรียน 50 คน สามารถพบเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้ 2 - 3 คน
การวินิจฉัย
     อาการสมาธิสั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เลี้ยงดูตามใจ ไม่ฝึกวินัย สติปัญญาต่ำ เบื่อหน่าย ติดตามการเรียนไม่ทัน มีปัญหารบกวนจิตใจ เป็นต้น ดังนั้นการตรวจประเมินหาสาเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องใช้ข้อมูลด้านการเรียนและพฤติกรรมในห้องเรียน ร่วมกับข้อมูลจากทางบ้าน และการสังเกตพฤติกรรมในห้องตรวจประกอบกันในการวินิจฉัย
การรักษา
  1. การให้ความรู้แก่พ่อแม่และคุณครูเพื่อให้เข้าใจการดำเนินโรค ข้อจำกัดของเด็ก
  2. การใช้ยาเพื่อช่วยให้มีสมาธิในการเรียนได้นานขึ้น
  3. การปรับพฤติกรรมที่บ้าน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้
  4. การช่วยเหลือในห้องเรียน
     ภายใต้การช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นก็สามารถประสบความสำเร็จในการเรียน เป็นเด็กดี และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ตามศักยภาพเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก คลินิกกระตุ้นพัฒนาการ ร.พ.ตากสิน
ข้อมูลเพิ่มเติม  www.rcpsycht.org 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น