วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๖


ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น

การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++





ผู้เฒ่าอาวุโสแห่งบ้านแม่ลายใต้

วิน คนหนุ่มเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นปู่ที่ในอดีต เคยเป็นผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงโป 
ขณะนั้นได้มีฝรั่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนา แล้วถ่ายภาพนี้ไว้ให้เป็นที่ระลึก





แม้แดดจะแผดจ้า 
แต่ความหนาวเย็น และลมดูจะทำให้แดดนั้นลดความร้อนแรงไปมากมาย
แต่สิ่งที่ยังมีอยู่เท่าเดิม
คือความแรงของรังสียูวีที่โลมไล้ผิวหน้าสาว ๆ ชาวกะเหรี่ยงโปให้แห้งกร้าน 
ผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปี คนละไม่ใช่น้อย
ณ วันนี้ เราจึงเห็นริ้วรอยแห่งกาลเวลาได้ชัดเจน
บนใบหน้าที่หยาบกร้าน ได้ฉาบทาด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรไมตรี
ใสซื่อ จริงใจ อบอุ่น เป็นกันเอง กับทุกคน
เธอ และเขาเหล่านี้ ได้ทำให้ เรา...
ได้ตระหนัก..ว่า
บนเขาสูง หน้าผาชัน ปกคลุมด้วยแมกไม้
อาบไอด้วยความหนาวเย็น ซุกซ่อนสิ่งสวยงามไว้มากมาย 
น่าค้นหา
..
..
แม้เวลาเพียงน้อย เราก็อิ่มเอมใจ
..
ขอบคุณ จากใจ จริง ๆ













เหล่าผู้อาวุโสแห่งชมชน กระเปรี่ยงโป
ขณะกำลังตรวจรักษาอยู่นั้นก็ได้บันทึกภาพผู้อาวุโสไว้
เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งการพบกัน 
ด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร ทำให้ทีมงานรู้สึกอบอุ่นยิ่งนัก







      

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๕

ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น

การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


     การ่ตรวจได้เริ่มขึ้นหลังจากไปถึงไม่นาน  สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขอล่ามมาช่วยแปลให้ด้วย เพราะภาษากะเหรี่ยงโป เป็นภาษาที่ไม่เคยได้ยินเลย และเดาคำก็ไม่ได้

ขั้นตอนแรก ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ซักประวัติ ก็ต้องอาศัย น้องเชน เป็นล่ามช่วยแปลคำพูดของคุณตาท่านนี้ให้ คุณเกิ้ง ฟัง และแปลคำพูดของคุณเกิ้งให้คุณตาฟัง ถึงจะสามารถสื่อสารกันได้










     ขั้นตอนต่อมาคือพบป้าหมอแต๋ม เพื่อวินิจฉัย ให้การรักษา ก็ต้องมีล่ามอีกคนเช่นกัน

     การตรวจรักษาก็เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น หากพบว่าต้องรับการรักษาที่มากขึ้นก็จะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลต่อไป

     ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นการจะเปิดผ้าเพื่อตรวจก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และตรงนี้ก็เป็นที่เปิดโล่งอีกด้วย






แม้ตอนจ่ายยา ก็ต้องมีล่ามอีก ๑ คน เพื่อช่วยอธิบายการทานยาให้ถูกต้อง



     เนื่องจากเป็นเวลาใกล้เที่ยงทีมงานจึงต้องเติมพลังกันก่อนแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องมีโต๊ะ เก้าอี้ ให้ยุ่งยาก เป็นเพิงพักที่ ๑ หมอ กับ ๒ พยาบาล ทานมื้อเที่ยงกันอย่างมีความสุข อร่อยที่สุด บนดอยที่สูงที่หนาวเย็น


                                     

จากการตรวจเบื้องต้น พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นโรคปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ แขน ขา
ป้าหมอแต๋มเลยต้องโชว์ลีลาการยกสิ่งของที่ถูกต้อง ตบท้ายด้วยท่าบริหารร่างกาย
เพื่อป้องกันการปวดหลัง งานนี้หนุมานคลุกฝุ่นเรียกพี่เลยครับ



 นี่ก็เป็นอีกท่าเพื่อป้องกัน และแก้ไขอาการปวดหลัง
สาวน้อย หนุ่มน้อย บนดอยนี่มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องแบก หาม ยก สิ่งของอยู่เป็นประจำ
เมื่อให้ทำตาม ก็ยังมีอาการเขินอายอยู่
น้องหนูที่เป็นล่ามยืนอยู่ข้าง ๆ ก็เขินอายเช่นกัน
ป้าหมอแต๋ม จัดหนัก จัดเต็ม จริง ๆ

การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๔

ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น

การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


     ช่วงสายหลังมื้อเช้า ออกเดินทางสู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยมีน้องดรีมกะน้องเอกขับ Honda Jazz นำทาง



     น้องดรีม ลูกสาว น้องเอก ลูกเขยของพี่เฟีย มีหนุ่มน้อยดลเป็นโซทองคล้องใจ  เป็นครั้งแรกที่เห็นครอบครัวเดียวกันมี ๓ ศาสนา แม่=อิสลาม  พ่อ=พุทธ  ลูก=คริสต์   แต่ทั้งหมดอยู่ร่วมกันเป็นปกติ น่ารักมาก


     จากบ้านพี่เฟียถึง อ.ฮอด 98 กม.ขับแบบสบาย ๆ แวะเติมแก๊สแถว อ.จอมทอง ก่อนขึ้นดอย ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเชื้อเพลิงเต็มที่ทั้งน้ำมันและแก๊ส
     
     ระหว่างทางช่วง ตัว อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ไปทาง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้พบเห็นพระธุดงค์เดินอยู่ริมทาง คุณอ้วน จารุวรรณ ก็ขอให้จอดรถแล้วนำหมวกไหมพรมที่ลงมือถักเอง ไปถวายพระ ตรงนั้นเป็นช่วงโค้งจอดรถไม่ได้จึงต้องเลยไปไกลพอสมควร
     ต้องซูมภาพเข้ามาจนสุดจึงเห็นได้เท่านี้ และคนถ่ายก็มือสั่นด้วย อากาศตอนนี้เริ่มน้อยกว่า 20 แล้ว
     คุณทรง ถึงกะโผล่หน้าต่างออกมาลุ้นเพื่อนอ้วน เพราะต้องวิ่งลงเขาไปเกินร้อยเมตร และช่วงนั้นก็มีรถวิ่งตามมาตลอดเวลา

     เส้นทางจาก อ.ฮอด ไป อ.แม่สะเรียงคดเคี้ยวมาก โดยจะเลียบไปตามลำน้ำ 18 กม. ทางเล็กที่รถต้องต่อคิววิ่งกันเลยทีเดียว ถ้ามีรถใหญ่วิ่งช้านำ ก็ต้องทำใจให้เย็น ๆ ตามไปด้วย  ช่วงต้นอยู่ระหว่างขยายทาง และบูรณะใหม่ ทำให้การเดินทางช่วงแรกช้าหน่อยแต่ก็สนุกตื่นเต้นไปกับเส้นทางที่สวยงามที่เรียกว่าไม่มีใครกล้าหลับเลยเชียว  (ไม่รู้ว่ารอบ ๆ สวย หรือกลัว)








     ถึงบ้านแม่ลายใต้ ก็ ๑๑ โมง ๒๐ อากาศก็เย็นลงอีกต่ำกว่า ๒๐ องศา

     เค้าตั้งเต๊นท์ไว้รอจึงถอยรถชิดแล้วเปิดท้ายเพื่อนำยาลงมาจัด และมีบางส่วนจัดไว้ที่ท้ายรถเพื่อความสะดวกในการหยิบ






   

   สภาพการทำงานค่อนข้างจะเฮฮาปาร์ตี้ ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือน่ารักมาก ที่เห็นด้านหลังสุดนั่นเป็นเวทีที่เขาเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมทางศาสนาคริสต์      ที่หมู่บ้านนี้เป็นคริสต์กันทั้งหมด     และทีมงานแพทย์อาสา ๖ คนเป็นพุทธ แต่เราก็ทำงานช่วยเหลือกันได้สนิทใจ เพราะเราเริ่มต้นความคิดจากการ  ให้ 




    เดินสำรวจสถานที่
ชาวบ้านเริ่มมารวมตัวกันที่เต๊นท์
     ที่เวทีก็ตกแต่งด้วยป้ายอิงค์เจ็ทขนาดใหญ่สวยงาม นับว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้งานง่ายขึ้นเยอะ
     ดนตรี เครื่องเสียง พร้อม เย็นนี้จะมีกิจกรรมของพี่น้องชาวคริสต์ที่หมู่บ้านแม่ลายใต้


การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๓


ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น

การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ลังจากแวะสักการะพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน กันแล้ว ก็เดินทางต่อ จนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ช่วงเย็น เชียงใหม่วันนี้ต่างจากวันวานที่เคยมาเมื่อปี 2541 อย่างมาก ถนนเลี่ยงเมืองที่เป็นวงแหวน ก็มีอุโมงลอดทุกแยก ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ถ้าจะเข้าในตัวเมืองจริง ๆ ก็ติดขัดเหมือนกรุงเทพฯไงงั้น




     ถึงบ้านพี่เฟีย เพื่อนพี่สาวของป้าหมอแต๋ม ก็เกือบห้าโมงเย็น บนเนื้อที่เกิน 1 ไร่ บ้านสงบร่มเย็น อบอวลด้วยมวลไม้ดอกนานาชนิด แข่งกันส่งกลิ่นหอมยั่วยวลใจ 
     
     ได้แนะนำตัวทีมงานกับสมาชิกบ้านพี่เฟียกันถ้วนหน้าแล้วก็เข้าที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่เกิน 100 เมตรนิดหน่อยก็ถึงแล้ว












โรงแรม B2 Black (สาขา) ดูสะอาดสะอ้านน่าพัก ด้านหน้าติดคลองชลประทาน ด้านหลังมองเห็นดอยสุเทพได้ชัดเจน  


     โรงแรมนี้เป็นการออกแบบที่ค่อนข้างแนวสมัยใหม่ ใช้โทนสีดำ เทา ดูเคร่งขรึม ผนัง เพดาน ก็ใช้เป็นปูนซิเมนต์ขัดมัน เก๋ไก๋ไปอีกแบบ เพิ่งเปิดได้ประมาณ 3 เดือน ดูหลาย ๆ อย่างก็ยังใหม่อยู่










มุมมองจากชั้น 8  ซึ่งเป็นห้องมุม เห็นทั้งสองด้าน เป็นคลองชลประทานที่อยู่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ ด้านซ้ายมือไปทางสนามกีฬา 700 ปี ส่วนด้านขวาไปทางตัวเมือง และทางแยกไปดอยสุเทพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




บรรยากาศประตูท่าแพยามค่ำคืน คราคร่ำไปด้วยผู้คน
ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเดินเป็นพญาน้อยชมกาด(ตลาด)ซะหน่อย
ให้สาว ๆ เค้าลงไปดูกันก่อน แต่พอวนหาที่จอดรถไม่ได้ก็เปลี่ยนแผนใหม่
เป็นรับสาว ๆ แล้วข้ามแม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐไปหาอาหารอร่อย ๆ ทานกันดีกว่า



     สะพานนวรัฐ มีประวัติระบุว่าเป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำปิงสะพานที่สอง สะพานแรก คือ สะพานไม้ที่ข้ามระหว่าง ตลาดต้นลำไย  กับ วัดเกตุการาม ดังเมื่อปี พ.ศ. 2440 เมื่อนายปิแอร์ โอร์ต นักกฎหมายชาวเบลเยียมเดินทางมาเมืองเชียงใหม่และบันทึกเกี่ยวกับสะพานข้ามแม่น้ำปิงว่า "…เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองเก่าแก่มากนัก (เมื่อเทียบกับเมืองในยุโรป) แบ่งออกเป็น 2 เขต แต่ละเขตมีกำแพงสูงราว 3-4 เมตร และมีป้อมสูงที่แต่ละมุมกำแพง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ส่วนบนฝั่งซ้ายก็มีอาคารสำคัญๆ ตั้งอยู่ มีสะพานไม่สวยงามทอดเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ สะพานนี้มีเสา 14 ต้น ระหว่างที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในเชียงใหม่สะพานนี้โยกคลอนเนื่องจากถูกท่อนไม้ซุงที่มากับกระแสน้ำดัน"
     สะพานนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่เชียงใหม่แห่งแรกทำด้วยไม้สัก สร้างโดยนายชี้กหรือหมอชี้ก ราวปี พ.ศ. 2433 ใช้การต่อมาหลายสิบปีจนพังลงเมื่อปี พ.ศ. 2475 หมอชี้กผู้นี้มีประวัติน่าสนใจไม่ใช่น้อย จากนักสอนศาสนาที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่นกลับกลายเป็นนักธุรกิจค้าไม้สักที่มุ่งด้านผลกำไรเป็นหลัก ต่อมามีประวัติในด้านการสร้างฮาเร็มในเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
     ส่วนสะพานนวรัฐนั้นคงสร้างหลังปี พ.ศ. 2433 ชื่อ "นวรัฐ" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย
     สมัยที่พระยาอนุบาลพายัพกิจได้รับแต่งตั้งไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างทางต้องมาพักเตรียมตัวเดินทางในเมืองเชียงใหม่ได้บันทึกเกี่ยวกับสะพานนวรัฐ สะพานแห่งที่สองไว้ว่า "สะพานนวรัฐที่สร้างด้วยไม้นี้ ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้สะพาน ทางราชการจึงสร้างสะพานเหล็กลำลองพอให้รถวิ่งข้าไปมาได้ เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 จึงมีการรื้อสะพานไม้เดิมแล้วสร้างสะพานเหล็กขึ้นแทน"

     สะพานเหล็กแห่งนี้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ. 2510 จึงรื้อสะพานเหล็กและสร้างเป็นสะพานอนกรีตเสริมเหล็กใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 





     บรรยากาศริมแม่น้ำปิงที่เย็นสบาย เราทิ้งประตูท่าแพไว้เบื้องหลัง ไม่แยแสแม้แต่น้อย เพราะหากเรายังดึงดันที่จะเดินกันต่อ คงต้องไหลตามคลื่นมหาชนที่มาร่วมงานถนนคนเดินวันอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกับวันคริสต์มาสด้วย พี่น้องชาวคริสต์ก็กำลังเฉลิมฉลองกันมากมาย รวมถึงชาวอื่น ๆ ก็ร่วมแสดงความยินดีด้วยเช่นกัน

  ที่น่าประทับใจคือปลานิลตัวใหญ่ที่ย่างอย่างประณีตบรรจง จนเราทานอย่างอื่นกันหมดแล้ว ตั้งท่าว่าจะกลับที่พักแล้วแหละ ถึงได้มาให้ยลโฉมกัน   ก็ไม่ผิดหวัง สมกับที่รอคอย อร่อย เนื้อนุ่ม เหมาะสำหรับคน 6 คนเป็นอย่างยิ่ง ใช้เวลานิดหน่อยก็เหลือแต่ก้างกับหนังให้น้ำลายสอกันต่อ

     จบไปอีกมื้อหนึ่งของการเดินทาง


     เช้าวันที่ 26 ธ.ค.54 ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายเราตื่นกันแต่เช้า ออกมาร่ำลาหน้าโรงแรมที่พัก แล้วก็แวะไปรับอาหารเช้าที่บ้านพี่เฟีย ซึ่งงานนี้เจ้าภาพจัดเต็มสำหรับคนใต้(กทม.) โดยเฉพาะ

ไม่ว่าจะเป็น ไส้อั่ว แหนม น้ำพริกหนุ่ม ผัก งา น้ำพริกอ่อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวดำ มีให้เลือกตามอัธยาศัย ตบท้ายด้วยกาแฟร้อน ๆ และปาท่องโก๋ตัวยาวเป็นศอก อิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า


     ที่พี่เฟียห่วงมากคือคนขับรถ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าห้ามกินข้าวเหนียวเยอะ เดี๋ยวง่วง จะขับรถไม่ได้ ระหว่างทางขึ้นดอยคดเคี้ยวเต็มไปด้วยหุบเหว


    แต่พี่เฟียไม่รู้อยู่อย่างหนึ่ง คือ ภูมิต้านทานเรื่องข้าวเหนียวของเราดีมาก 5555


จบตอนที่ 3 ด้วยดอกไม้แสนสวยที่บ้านพี่เฟีย






วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๑

ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น
การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

     เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเสมอมา  ครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้รับโอกาสจาก พญ.ธนีนาถ ตรีรัตน์วีรพงษ์ (ป้าหมอแต๋ม)  ให้ร่วมเดินทางไปกับแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ วันที่ ๒๕-๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔

     เรากำหนดกันว่่าออกเดินทางวันที่ ๒๕ ซักประมาณตีสี่ ระหว่างทางก็แวะชมนกชมไม้ไปเรื่อย ๆ ถึงเชียงใหม่ก็ช่วงเย็น ๆ พักซักคืนแล้วเช้า ๒๖ ก็ค่อยเดินทางขึ้นดอยทำกิจกรรมกัน แล้วนอนพักค้างคืนกับชาวบ้าน วันรุ่งขึ้น ๒๗ ก็ค่อยกลับโดยแวะชมโครงการหลวงอินทนนท์กันก่อน

จัดทั้งเวชภัณฑ์และสิ่งของพร้อมก่อนเดินทาง

     เตรียมความพร้อมทั้งยาน้ำ ยาเม็ดอุปกรณ์ทำแผล เครื่องวัดความดัน ชุดตรวจ เครื่องชั่งน้ำหนัก แบบฟอร์มบันทึกประวัติ ครบถ้วน

     สำหรับความจำเป็นส่วนตัว เสื้อผ้ารวมถึงถุงนอนที่ขาดไม่ได้เลย บนดอยหนาวมาก ผมจึงต้องเสริมด้วยผ้าห่มและเสื้อกันหนาว หนา ๆ

     ๐๔.๑๕ น. เราเริ่มเดินทางจาก ร.พ.ตากสิน ด้วยรถ ๗ ที่นั่ง โตโยต้า อินโนว่า รุ่นท๊อป ที่นั่งสะดวกสบาย กับผู้โดยสาร ๖ คน คือ คุณหมอแต๋ม คุณทรง คุณอ้วน(จารุวรรณ) คุณเกิ้ง น้องยุ้ย และผมซึ่งเป็นโชเฟอร์หลัก  โดยคาดว่าจะไปทานอาหารเช้ากันแถว นครสวรรค์ หรือกำแพงเพชร

     เป็นการเดินทางที่ปลอดโปร่ง เราขึ้นทางด่วนไปจนสุดที่ถนนวงแหวนตะวันตก เลี้ยวเข้าถนนสายเอเซีย จากเดิมที่เราคาดว่าถนนจะเสียหายขับลำบาก แต่ผิดคาด ทำความเร็วได้จนถึง ๑๔๐

เติมแก๊ส 


     ๐๖.๕๖ น.แวะเติมแก๊สกันที่นครสวรรค์ช่วงเลยไปกำแพงเพชร เนื่องจากว่ายังเช้าอยู่ จึงเดินทางกันต่อ อากาศก็กำลังสบาย แบบต้องใส่เสื้อกันหนาวกันแล้ว

     ราคาแก๊สก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่ห่างจาก กทม. รถคันนี้ถังบรรจุ ๕๘ ลิตร แต่เติมจริงก็แค่ ๔๘-๔๙ ลิตรเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย



ถึง แยกสลกบาตร อ.ขาณุวรลักษณ์บุรี จ.กำแพงเพชร เป็นตลาดเช้า สภาพทั่วไปเป็นตลาดที่วางเสริมบนถนนคู่ขนาน  มีของกินของใช้มากมาย แต่ร้านนั่งกินมีน้อย เลยต้องแวะร้านข้าวมันไก่ ต้มเลือดหมู พอประทังไปก่อน

แล้วก็อดไม่ได้ที่่จะแจกลูกโป่งเด็ก ๆ แถวนี้



บันทึกวีดีโอ สอนบิดลูกโป่ง


ถึงฟาร์แกะ hug you แวะบันทึกความสวยงามของที่นี่ และก็บันทึกวีดีโอสอนการทำลูกโป่ง ได้ป้าหมอแต๋ม เป็นผู้ช่วยกิตติมศักดิ์ คอยถือลูกโป่ง มีเด็กเล็ก ๆ มารอรับอยู่ด้วยคลิปวีดีโอบน Youtube
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=w7x7VBS

มีสาวน้อยเป็นตากล้อง โดยใช้มือถือ มือก็อาจจะสั่นไหวไปบ้างแต่ก็ได้บรรยากาศดี
หนุ่มน้อยที่รอลูกโป่ง







      นี่คือหนุ่มน้อยเมืองแพร่ กับคุณแม่ที่รอลูกโป่งอย่างใจจดใจจ่อระหว่างรอจะชี้ไปที่ลูกโป่งหัวใจสีแดง ตอนส่งให้ก็ยังงง ๆ อยู่เลย
 
     เด็ก ๆ ถ้าได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ เมื่อเติบโตขึ้นเขาก็จะมีภูมิต้านทานที่ดี

     เด็กทุกคนต้องการสิ่งนี้ครับ






สาว ๆ กับแกะ
และกฎ กติกา มารยาท
ของประดาแกะทั้งหลาย
๑.ห้ามผสมพันธ์กันในเวลาทำงาน
๒.ห้ามแย่งหญ้าจากมือลูกค้าเด็ดขาด
๓.เมื่อรับหญ้าจากลูกค้าแล้วให้ยิ้ม
และกล่าวคำว่าขอบคุณทุกครั้ง
หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกหักค่าแรง ๑๐%

การเดินทาง เพื่อความดี ตอนที่ ๒

 ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น

การเดินทางร่วมกับทีมงานแพทย์อาสา สู่บ้านแม่ลายใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่


     หลังจากที่แวะชมฟาร์มแกะกันแล้ว ต่อมาก็เป็นเป้าหมายแรกที่วางกันไว้


     พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยก่อนแวะชมก็พักรับประทานอาหารกัน ที่ตลาดเกาะคา ต้องทำใจเรื่องของความเร็ว เพราะที่นี่เค้าไม่ค่อยเร่งรีบกันเท่าไหร่ จะแตกต่างกับคน กทม.ที่รีบเร่งไปทุกหย่อมหญ้า คนมีรถก็ต้องรีบไปแต่เช้าเพื่อให้ได้ที่จอดรถ คนไม่มีรถก็ต้องไปแต่เช้ารถจะได้มีที่ว่างให้นั่ง คิดไปแล้วก็น่าสงสารคน กทม.ซะจริง ๆ




ด้านหน้าพระธาตุลำปางหลวง
    
      ตามธรรมเนียมที่จะต้องถ่ายภาพร่วมกัน โดยมีฉากหลังเป็นพระธาตุลำปางหลวง ตรงนี้เป็นสระน้ำ และตลาดของที่ระลึก ลานจอดรถ ร้านอาหาร เป็นบริเวณที่ใหญ่มาก สำหรับรับนักท่องเที่ยวมาแวะชม สักการะ องค์พระธาตุ 


     จุดเด่นอีกอย่างคือพระธาตุกลับหัว ที่เป็นภาพตกสะท้อนบนผืนผ้าขาว เห็นพระธาตุกลับบน-ล่าง  ผลเกิดจากการหักเหของแสง ไม่ได้เป็นปาฎิหารย์แต่อย่างใด






อุโบสถวัดพระธาตุลำปางหลวง










     ด้านข้างจะเป็นอุโบสถวัดพระธาตุลำปางหลวง 
มีลวดลายสวยงามเน้นสีเหลืองทอง กับพื้นสีแดง ลักษณะที่สะดุดตาก็คือ ความช่างคิดของช่างทำลวดลาย เค้าสามารถจะใส่ลวดลายได้ในทุกพื้นที่ จนดูเต็มไปหมด ก็แปลกตาไปอีกแบบ
     ตรงราวบันไดก็เป็นพญานาคตัวใหญ่ เกล็ดสีทองเหลืองอร่ามเชียว
    ดูจากสีแล้ว เข้าใจว่าเป็นการบูรณะขึ้นมาใหม่ 
ด้านข้างจะมีชมรมผู้สูงอายุ อ.เกาะคาทำกิจกรรมต่าง ๆ กันอยู่  แสงแดดตอนเกินเที่ยงนี่แรงจริง ๆ




ศาลาด้านหน้าองค์พระธาตุ



     เดินขึ้นบันไดไป พอพ้นประตูก็จะเห็นด้านหน้าของ
ศาลาหน้าองค์พระธาตุ ทำด้วยไม้ทั้งหลัง ลวดลาย
สลักเสลาสวยงาม เป็นศิลปะล้านนา











ภายในศาลาด้านหน้าองค์พระธาตุ
















พระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยมีพระบรมธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา มีฐานกว้างด้านละ ๑๒ วา สูง ๒๒ วา ๒ ศอก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีกำแพงแก้วลูกกรงสัมฤทธิ์ยอดดอกบัวล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส องค์พระเจดีย์ภายนอกบุด้วยแผ่นทองเหลืองทองแดงติดทองคำเปลว เรียกว่า ทองจังโก แผ่นโลหะเหล่านี้มีลายสลักดุนเป็นลายประจำยามแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันแม้แต่แผ่นเดียว เป็นแบบอย่างลวดลายศิลปะล้านนาไทยที่ประมวลกันอยู่มากที่สุด ณ ที่เดียวกัน ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุเส้นพระเกษา และพระอัฐิธาตุพระนลาฎข้างขวา พระอัฐิธาตุพระศอลำคอด้านหน้าด้านหลัง ที่พระกุมาระกัสสปะเถระเจ้า และพระเมขิยะเถระเจ้าอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้รรับการบูรณะซ่อมแซมจากเจ้าผู้ครองนครลำปางมาหลายยุคหลายสมัย โดยครั้งหลังสุดบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๙ เจ้าหาญศรีอัตตะเป็นผู้บูรณะตราบจนปัจจุบัน